สถานที่ท่องเที่ยว

อำเภอเมือง และใกล้เคียง

อำเภอหนองขาหย่าง

อำเภอหนองฉาง

อำเภอทัพทัน

อำเภอสว่างอารมณ์

อำเภอลานสัก

อำเภอห้วยคต

อำเภอบ้านไร่

ธุรกิจท่องเที่ยว

โรงแรม - ที่พัก

ร้านอาหาร

โปรแกรมทัวร์

ข้อมูลท่องเที่ยว อุทัยธานี

วัดสังกัสรัตนคีรี

วัดสังกัสรัตนคีรี  ตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ สำหรับเมืองอุทัยธานีได้รับ ๓ องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าพระ (ตรงข้ามศาลาประชาคมจังหวัดอุทัยธานี) แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สร้างในสมัยพระเจ้าลิไท ฝีมือช่างสุโขทัยยุค ๒ มีส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์   เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันก่อนนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป ๑ กิโลเมตร และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์”  ในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปีจะมีประเพณีตักบาตรเทโว โดยพระสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูปจะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรังมารับบิณฑบาตที่ลานวัดเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัด

เขาสะแกกรัง

เขาสะแกกรัง จากบริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีมีบันไดขึ้นไปสู่ยอดเขาสะแกกรัง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๒๒๐ เป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวบริเวณสนามกีฬาจังหวัดไปตามทางขึ้นสู่ยอดเขา จากบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองอุทัยธานีได้กว้างขวาง  เป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เท่ากับไม่ได้ไปเที่ยวอุทัยธานี

ใกล้กับมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีพระนามเดิมว่านายทองดี รับราชการตำแหน่งพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมนายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘

พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ

พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริงประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย และทรงวางพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาขวา  ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานีบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปบนเขาสะแกกรัง

เลยพระราชานุสาวรีย์ไปทางป่าหลังเขา ประมาณ ๒๐๐ เมตร จะพบ หมุดแผนที่โลก ซึ่งใช้ในการสำรวจแผนที่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕  

วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม

วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม  ตั้งอยู่ที่ถนนสุนทรสถิตย์หลังสวนสุขภาพ ตรงวงเวียนหอนาฬิกา เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองเรียกกันว่าวัดทุ่งแก้ว ในวัดนี้มีพระปรางค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่ง ฐานกว้าง ๘ เมตรสูง ๑๖ เมตร ลักษณะเป็นปรางค์ห้ายอด สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแย้มผู้สร้างวัดนี้ บริเวณวัดมีสระน้ำก่ออิฐเป็นสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่  กลางสระมีแผ่นศิลาอักขระยันต์ของหลวงพ่อแย้มฝังเอาไว้ น้ำในสระแห่งนี้เคยใช้เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

วัดธรรมโฆษก

วัดธรรมโฆษก (วัดโรงโค)  เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ใกล้กับตลาดเทศบาล  เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยาของข้าราชการเมืองอุทัยธานี และเป็นลานประหารนักโทษ

โบสถ์ของวัดนี้เป็นโบสถ์สมัยรัตนโกสินทร์ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืองดงามจัดว่าสวยงามที่สุดในอุทัยธานี สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ และตอนผจญมาร ผนังข้างด้านบนเป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับพัดยศ  กรอบหน้าต่างด้านนอกเป็นลายปูนปั้นเป็นฝีมือพองาม

สำหรับวิหารสร้างยกพื้นสูงกว่าโบสถ์  หน้าบันเป็นรูปช้างสามเศียร ภายในมีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่ประมาณ ๒๐ องค์ จัดเรียงอย่างมีระเบียบ บนหน้าต่างด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นเรื่องรามเกียรติ์ประดับเป็นกรอบ  ประตูวิหารเป็นไม้จำหลักลายดอกไม้ทาสีแดงงดงามมาก  โบสถ์และวิหารมีพระปรางค์และเจดีย์เรียงรายอยู่ ๒-๓ องค์

กำแพงรอบโบสถ์ของวัดนี้ก่อต่อกับฐานวิหารเพราะมีพื้นสูงกว่า ประตูเข้ากำแพงทำเป็นซุ้มแบบจีน และด้านหลังโบสถ์มีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วย เช่นเดียวกับด้านหน้ามีกุฏิเล็กอยู่ติดกับกำแพงโบสถ์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา ส่วนบานประตูวัดเป็นศิลปะการแกะสลักฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แกะเป็นลายดอกไม้ประกอบใบกระจังต่อก้านสลับดอกเรียงเป็นแถวสวยงามมาก พื้นในเป็นสีแดงเข้าใจว่าเดิมคงลงสีทองบนตัวลายไว้ สำหรับบานหน้าต่างแกะเป็นลวดลายเดียวกัน ปกติโบสถ์จะปิดหากต้องการชมควรแจ้งไปก่อนที่ โทร. (๐๕๖)๕๑๑๔๕๐ ปัจจุบันวัดธรรมโฆษกได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว

ลำน้ำสะแกกรัง

ลำน้ำสะแกกรัง  ไหลผ่านตัวจังหวัดอุทัยธานี มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน เมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมา จะรู้ได้ว่าถึงบ้านสะแกกรังแล้ว โดยเฉพาะในเดือนยี่ถึงเดือนสามจะสังเกตได้ชัดเจน ต้นสะแกจะออกดอกเล็ก ๆ ช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาริมน้ำ
บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพอยู่เรียงราย  ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น เป็นตลาดใหญ่ของที่มาขายที่ตลาดนั้น ทั้งข้าวสารซึ่งวางขายอยู่ในกระบุง อาหารคาวหวาน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกเองทำเอง และนำมาขาย

ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ มีสวนผลไม้ และป่าไผ่ตามธรรมชาติ เรือนแพที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ ชาวแพบอกว่าอยู่แพแล้วสบาย หน้าร้อนลมเย็น หน้าหนาวตอนเช้าแดดอุ่น

ชาวเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงในช่วงเช้าหลังจากที่ได้ปลามาจะนำมาชำแหละ เสียบไม้เป็นแผง ผึ่งให้แห้ง ย่างรมควันทำเป็นปลาแห้ง และนำไปขายในตลาด ตามเรือนแพริมน้ำเหล่านี้ยังมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาแรด และปลาเทโพบ้างเล็กน้อย

ปกติปลาแรดที่เลี้ยงในกระชังจะไม่คาวเหมือนปลาแรดที่เลี้ยงในบ่อดินอยู่แล้ว แต่ปลาแรดในกระชังของที่นี่นับว่าขึ้นชื่อมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มและหวาน บางคนกล่าวว่า เป็นเพราะน้ำที่นี่มีการไหลเวียนดีและอาจมีแร่ธาตุบางอย่างอยู่ ปลาแรดจึงมีเนื้อนุ่ม

สภาพความเป็นอยู่ที่สามารถพบเห็นตามสองฝั่งลำน้ำสะแกกรัง จึงเหมาะสำหรับนั่งเรือชมทิวทัศน์ โดยจะนั่งเรือไปถึง อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทก็ได้ โดยจะวนเฉพาะรอบตัวเกาะเทโพ หรือนักท่องเที่ยวสามารถว่าจ้างเรือจากบริเวณท่าเรือตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี เรือจะล่องไปมโนรมย์ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ถ้าล่องเรือในช่วงเย็น คือประมาณ ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกซึ่งสวยงามมาก และในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะเห็นยอดักปลาเต็มไปหมด บางครั้งอาจได้เห็นชาวบ้านพายเรือมาเก็บผักตบชวา เพื่อนำใบไปรองเข่งปลา หรือจะนำไปเลี้ยงหมูก็ได้

เรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง หากเป็นเรือเล็กจุได้ประมาณ ๑๐-๑๒ คน ล่องเรือไปถึงวัดท่าซุงราคาประมาณ ๑,๐๐๐ บาท หากไปถึงมโนรมย์ ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท ไปถึงวัดท่าซุง ติดต่อที่ บ้านเลขที่ ๑๑๓ คลองสะแกกรัง หรือติดต่อที่บริเวณตลาดเทศบาล ๑ ตรงสะพานข้ามฟากไปวัดอุโบสถาราม ในช่วงเวลาตลาดตอนเช้า โดยสอบถามได้จากแม่ค้าในบริเวณนั้น หรือที่ร้านราดหน้าในอาคารตลาดเทศบาล ซึ่งเปิดตั้งแต่ประมาณ ๗ โมงเช้าถึงเที่ยงคืน

เกาะเทโพ

เกาะเทโพ เดิมเป็นแหลมยื่นออกมาคั่นระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำทั้งสองสายจะมาบรรจบกันทางทิศใต้ของแหลม และมีการขุดคลองเชื่อมทางเหนือในภายหลัง เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยามาหนุนแม่น้ำสะแกกรังในยามน้ำแล้ง แหลมนี้จึงกลายเป็นเกาะเทโพ

ที่เกาะเทโพนี้เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ชอบปั่นจักรยานท่องเที่ยว หลังจากข้ามสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างตลาดสดเทศบาลและวัดอุโบสถาราม ซึ่งไม่ยาวนักและขนาดเล็กเพียงรถมอเตอร์ไซค์สวนกันได้ ก็นับเป็นการเริ่มต้นการเดินทางบนเกาะเทโพ บรรยากาศสองข้างจะเป็นป่าไผ่ ไร่ข้าวโพด และทุ่งนาให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่น ชาวบ้านที่นี่ทำสวนส้มโอ มีทั้งพันธุ์มโนรมย์ และขาวแตงกวา และยังปลูกมะไฟด้วย
เมื่อผ่านบ้านท่าดินแดงจะเห็นเสื่อลำแพนวางขายอยู่ ชาวบ้านใช้ต้นไผ่ที่มีอยู่หนาแน่นในพื้นที่นำมาสานเสื่อ และวางขายกันที่หน้าบ้าน ไม่ได้ส่งตลาด หากเดินทางต่อไปถึงวัดภูมิธรรม ก็จะมีศาลาให้นั่งพักตากลมได้ บรรยากาศในวัดเงียบสงบ เมื่อปั่นจักรยานครบรอบเส้นทางที่กำหนดไว้ก็จะถึงท่าเรือที่จะข้ามไปวัดท่าซุงได้ รวมระยะทางปั่นจักรยานบนเกาะทั้งหมด ๓๓ กิโลเมตร

วัดอุโบสถาราม

วัดอุโบสถาราม  เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมลำน้ำสะแกกรังในเขตเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาล มีสะพานข้ามแม่น้ำไปยังวัดอุโบสถาราม ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ  สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่  จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และวิหาร เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในโบสถ์เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานฝีมือประณีตมาก ส่วนในวิหารเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุมสลับกับพัดยศเหมือนจะไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นฝีมือชั้นหลัง นอกจากนี้ภายในวัดอุโบสถาราม ยังมีสิ่งของที่น่าชมอีกมาก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ และหงส์ยอดเสา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าชมหลายหลัง ได้แก่ มณฑปแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะผสมแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ที่ด้านนอกของอาคาร เจดีย์หกเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา ซึ่งเป็นหอสวดมนต์ เป็นศาลาทรงไทย หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น และแพโบสถ์น้ำซึ่งใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น งานบวช งานศพ เป็นต้น
วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างพื้นบ้านเข้าใจว่าเขียนในสมัยหลังเป็นเรื่องพุทธประวัติ บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน  สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของวัดคือ ธรรมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ที่วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองามและมีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ ๒-๓ แห่ง

ด้านตรงข้ามกับวัดเป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก พระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียงได้สร้างอาคารต่างๆ มากมาย เช่น พระอุโบสถใหม่ ภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด ๓ เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า  มณฑป และ พระวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และศพของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อย อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันคือสร้างด้วยโมเสกสีขาวใสดูเหมือนแก้ว นอกจากนี้ยังมียังมีศาลาอยู่หลายหลังสำหรับใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย อาคารแต่ละหลังจะมีเวลาเปิด-ปิดไม่ตรงกันและปิดช่วงกลางวัน โดยอาคารแต่ละหลังจะทยอยเปิดตั้งแต่เวลา ๑๐.๓๐ น. และจะเปิดให้ชมโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้งตั้งแต่เวลา ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป

การเดินทาง วัดท่าซุง ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลน้ำซึม สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี

๑)ไปตามทางสาย ๓๒๖๕ มุ่งตรงไปทางแพข้ามฟากอำเภอมโนรมย์ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร  

๒)รถโดยสารสายอุทัยฯ-ท่าซุง(สองแถวสีฟ้า) ค่าโดยสาร ๘ บาท จากวัดท่าซุงต่อไปอีก ๕ บาท จะถึงท่าเรือข้ามไปอำเภอมโนรมย์

พระแสงดาบศัสตราวุธประจำเมืองอุทัยธานี

พระแสงดาบศัสตราวุธประจำเมืองอุทัยธานี  สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นพระแสงดาบที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระแสงดาบนี้พระราชทานแก่จังหวัดอุทัยธานีเป็นลำดับที่ ๓ (อันดับ ๑ เมืองอยุธยา อันดับ ๒ เมืองชัยนาท)

พระแสงดาบศัสตราวุธ  เป็นดาบไทยทำด้วยเหล็กสีขาวอย่างดี ปลายแหลม คมด้านเดียว มีน้ำหนักเบา สันเป็นลาย ฝังงาในเนื้อเหล็กรูปดอกไม้ร่วง และริมสันทั้งสองข้างมีลายทองเป็นรูปก้านขด โคนตรงกลางมีจารึกนามอักษร “พระแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี” ด้ามพระแสงทำด้วยไม้เนื้อแข็งหุ้มทองลงยา โคนเป็นลายกนกตาอ้อย ปลายด้ามเป็นรูปจุฑามณีบัวคว่ำ ๓ ชั้น ประดับด้วยพลอย ต้นฝักพระแสงทำด้วยทองคำเป็นรูปรักร้อยประดับพลอย มีกาบกนกหุ้มต้นฝักทำด้วยทองคำเป็นลายก้านขด ช่อดอกแกมใบประดับพลอย ตัวฝักพระแสงทำด้วยทองคำดุน ฝักทั้งสองข้างมีลวดลายต่างๆ สวยงามมาก นับเป็นศิลปกรรมฝีมือเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นพระแสงดาบสำคัญประจำเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดอุทัยธานี จะนำออกให้ชมเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น

รวม โรงแรม รีสอร์ท ที่พักทั่วไทย หาที่ไหนไม่เจอ ที่นี่เจอ คลิก

 

ท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ เฉพาะในกลุ่มของท่านเอง  8 -16 ท่าน  กำหนดวันเดินทางตามความสะดวกของท่าน

Copyright © 2005 Tourdoi.com All Rights Reserved.