หน้าแรก   โปรแกรมทัวร์   ภาพท่องเที่ยว   ข้อมูลท่องเที่ยว   โรงแรมทั่วไทย   ท่องเที่ยวธรรมชาติ   เวบบอร์ด   อุทยานแห่งชาติ   แผนที่ทั่วไทย   ติดต่อเรา

 

ธุรกิจท่องเที่ยว

โรงแรม - ที่พัก

ร้านอาหาร

รถเช่า

โปรแกรมทัวร์

ข้อมูลท่องเที่ยว ย่านตัวเมือง เชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สูงที่สุดของอาณาจักรล้านนา สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.๑๙๑๓-๑๙๕๔) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๔ และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๑ นานถึง ๘๐ ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๘ ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ ๔๐.๘ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๖๐ เมตร    วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑  ภายในเป็นที่ประดิษฐานพรอัฏฐารถ หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือและในวัดเจีย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม ๑๒ ค่ำเดือน ๘ (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง
วัดพันเตา
สร้างขึ้นในพุทธศวรรตที่ 19 ประมาณปลายปี พ.ศ. 1934 มีความเก่าแก่ร่วมสมัยเดียวกันกับวัดเจดีย์หลวง สร้างขึ้นเพื่อเป็นบริวารล้อมรอบเขตพุทธาวาสของวัดเจดีย์หลวงซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ วัด ในทิศอันเป็นมงคลทั้ง 4 มุม  แต่เดิมมีชื่อเรียกว่าวัดปันเต้า  ต่อมาในปี พ.ศ. 1954  ได้มีการเททองหล่อพระอัฏฐารส พร้อมทั้งพระสาวกพระโมคคัลลานะ และ พระสารีบุตร  ได้ใช้วัดปันเต้านี้ที่เททองสำริด ในการเททองนั้นจะต้องเทอย่างต่อเนื่อง เตาที่ใช้จึงมีถึงพันเตา แล้วพิธีเททองแล้วเสร็จในเวลาต่อมาจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดพันเตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้การยึดครองของพม่าเป็นเวลาถึง 216 ปี วัดต่างๆ จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง ผู้คนในเมืองเชียงใหม่ถูกต้อนไปยังพม่า จึงกระทั่งกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งกำลังมาขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จจึงตั้งเจ้ากาวิละขึ้นเป็นเจ้าปกครองนครเชียงใหม่ วัดพันเตาจึงได้รับการบูรณะขึ้น  ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ได้โปรดให้รื้อคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่๕ สร้างเป็นวิหารถวายวัดพันเตาเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง นับว่าเป็นคุ้มหลวงที่เหลืออยู่เพียงหลังเดียวของล้านนาในปัจจุบัน
วัดพระสิงห์วรวิหาร
อยู่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ ๕ ในราชวงศ์เม็งรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในปีพ.ศ. ๑๘๘๘ พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง ๒๔ ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่องค์หนึ่งคือพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ตามประวัติเล่าว่าเจ้ามหาพรหมได้เชิญพระสิงห์มาจากเมืองกำแพงเพชรเพื่อถวายแด่พระเจ้าแสนเมืองมา แต่พอราชรถมาถึงวัดมีเหตุให้ต้องอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่นี่ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
วัดเจ็ดยอด
ตั้งอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมือง ๔ กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๐๒๐ โดยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย

เจดีย์เจ็ดยอด ลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ก็เช่นกันประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม สถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๐๓๐ พระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช และ สัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์

ที่วัดนี้เป็นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในรัชสมัยพระยาติโลกราช พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และในปีพ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน) ใช้เวลา ๑ ปีจึงเสร็จ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา

วัดเชียงมั่น

อยู่ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าคำจุนพระพุทธศาสนาไว้
วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม
ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ ในเขตอำเภอเมือง พญากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ล้านนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย
สวนสัตว์เชียงใหม่
ตั้งอยู่ที่สุดถนนห้วยแก้วบริเวณตีนดอยสุเทพ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ได้รับการจัดสภาพอย่างดี บริเวณกว้างขวาง มีบรรยากาศร่มรื่น และมีสัตว์อยู่มากกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศ ภายในสวนสัตว์ยังมีอุทยานสัตว์น้ำ ๗๐๐ ปี ศรีนครพิงค์ สวนนกเพนกวิน และสวนนกฟิ้นซ์ซึ่งเป็นนกขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็น อัญมณีบินได้

เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ - ๒๑.๐๐ น. เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเฝ้าชมพฤติกรรมสัตว์ยามค่ำคืน   ค่าเข้าชมผู้ใหญ่  บาท เด็ก ๕ บาท ค่ารถคันละ ๕๐ บาท รายละเอียดสอบถามที่ประชาสัมพันธ์สวนสัตว์เชียงใหม่ โทร.๐๕๓-๒๑๐๓๗๔

นอกจากจะมีสัตว์นานาชนิดแล้วที่สวนสัตว์เชียงใหม่ยังมีหมีแพนด้าจากประเทศจีนให้ชมอีกด้วย โดยเก็บค่าเข้าชมคนไทย ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท   หมายเหตุ ค่าเข้าชมนี้เก็บแยกจากบัตรผ่านประตูสวนสัตว์เชียงใหม่

ภายในสวนสัตว์มีร้านอาหาร สถานที่แค้มปิ้งพร้อมเต็นท์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อจองล่วงหน้าที่ โทร. ๐๕๓-๒๒๑๑๗๙ เข้าไปชมรายละเอียดได้ที่ www.zoothailand.org E-mail: chiangmai@zoothailand.org

หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่
ตั้งอยู่ที่ ถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ (ใกล้กับวัดพระสิงห์) บริเวณที่ตั้งเคยเป็นสะดือเมือง ตั้งแต่สมัยพระยาเม็งราย เป็นที่ตั้งของเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมือง ก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะโปรดให้ย้ายเสาอินทขีลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ที่ดินนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโรรสสริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 จนถึงสมัยเจ้าดารารัศมี เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองตามระบบเทศาภิบาล ได้ประทานให้รัฐบาล
ตัวอาคารสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2467 เคยใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลพายัพ และศาลากลางจังหวัดเขียงใหม่ หลังจากที่ย้ายไปใช้ศาลากลางหลังใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่จึงขอปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นพิฑิธภัณฑ์ในปี พ.ศ.2540 และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ. 2542 ประเภทที่ทำการอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มา และที่อาคารส่วนหลังจัดแบ่งเป็นห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
วันเวลาเปิดทำการ 08.30-17.00 วันอังคาร-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดทำการวันจันทร์ ค่าเข้าชม 20 บาท นักเรียนนักศึกษา 10 บาท รายละเอียดติดต่อโทร. 0 5321 7793, 0 5321 9833 โทรสาร 0 5321 9833 หรือ www.chiangmaicitymuseum.org
เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง เป็นหลักเมืองเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ หลักอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย
ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพมักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทางจากเชิงดอยไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ 10 กิโลเมตร
พระบรมธาตุดอยสุเทพ
พระบรมธาตุดอยสุเทพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองเก่าประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สามารถมองเห็นจากตัวเมืองได้ชัดเจน และเมื่อขึ้นไปอยู่ที่พระบรมธาตุ ก็จะเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด มีบันไดนาคเจ็ดเศียรทอดจากทางขึ้นไปถึงซุ้มประตูวัด จำนวน ๓๐๐ ขั้น ุ องค์พระบรมธาตุสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๖ โดยพระเจ้ากือนา กษรัตริย์องค์ที่ ๖ ของราชวงค์เม็งราย เพื่อบรรจุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียรของพระพุทธเจ้า  ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้บอกบุญชักชวนชาวเหนือ ให้ช่วยกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงยอดดอย ณ ที่ตั้งพระบรมธาต   องค์พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ใต้ดินลึกลงไป ๘ ศอก ดังนั้นจึงห้ามมิให้สตรีเข้าไปภายในฐานเจดีย์ และก่อนที่จะเข้าสู่ภายในบริเวณองค์พระบรมธาตุ ต้องถอดรองเท้าไว้ที่เชิงบันไดเสียก่อน  ในวันวิสาขบูชาของทุกปี หรือวันเพ็ญเดือน 6 จะมีประเพณีการเดินขึ้นดอยสุเทพเป็นประจำ เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพถือเป็นสิริมงคลและได้กุศลแรง
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงของดอยสุเทพ-ปุย อยู่ห่างจากดอยสุเทพขึ้นไปอีก 4 กิโลเมตร บริเวณรอบพระตำหนักประดับประดาไปด้วยพรรณไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุหลาบที่พระตำหนักภูพิงเลื่องลือในเรื่องของความสวยงามและดอกมีขนาดใหญ่มาก ในช่วงปกติพระตำหนักภูพิงค์เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชมในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ โดยเสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 50 บาท แต่หากช่วงไหนที่มีเสด็จแปรพระราชฐานก็จะปิดเป็นการชั่วคราว
เวียงกุมกาม
เวียงกุมกาม เป็นเมืองเก่าแก่ของล้านนาที่สร้างเมืองขึ้นมาก่อนเมืองเชียงใหม่โดยพญาเม็งราย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1829  แต่เนื่องแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศ เมืองจะอยู่ได้ไงถ้าไม่มีน้ำจึงทำต้องย้ายเมืองมายังทำเลใหม่คือเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมืองเวียงกุมกามจึงถูกตะกอนทับถมจมอยู่ใต้ดิน เมืองกลายเป็นนครใต้บาดาลอยู่อย่างนั้นมา 700 กว่าปี จนพื้นที่ทั้งหมดนั้นกลายเป็นสวนลำไยของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ชาวบ้านได้ขุดสวนลำไยลงไปลึกได้ประมาณ 2 เมตร ได้พบกับชั้นศิลาแลงจึงขุดสำรวจลงไปจึงรู้ว่าเป็นสิ่งก่อสร้าง  หลังจากนั้นกรมศิลปากรจึงเข้ามาทำการสำรวจขุดค้น จึงปรากฎเป็นเมืองเก่าในอดีตที่ยังสมบูรณ์เพียงแต่จมอยู่ใต้ดิน การขุดค้นจนถึงวันนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ยิ่งขุดยิ่งเจอ แต่ปัญหาคือที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ของชาวบ้านจึงทำให้การขุดค้นเป็นไปได้ลำบาก แต่ก็มีเจ้าของที่หลายรายที่ยกที่ดินให้เป็นสมบัติของชาติ กรมศิลปากรจึงได้ทำการขุดค้นพบโบราณสถานมากมาย

สถานที่ตั้ง เวียงกุมกามอยู่ทางใต้ของเมืองเชียงใหม่ ห่างจากกำแพงเมืองเชียงใหม่มาทางลำพูนเชียง 6 กิโลเมตร อยู่ในเขตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี  สถานที่นี้มีความสำคัญและเป็นมรดกชิ้นใหม่ของชาติ แต่เสียดายที่คนไทยไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าอะไรคือเวียงกุมกาม มาจากไหนไม่เคยได้ยิน ก็เลยได้นำมานำเสนอให้ได้รับรู้กัน หากมีโอกาสไปเชียงใหม่น่าหาเวลาแวะไปเที่ยวเวียงกุมกามสักครึ่งวัน ท่านจะได้รู้ได้เห็นอะไรมากมาย  สถานที่นี้ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผมพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวบ่อย คิดว่าเป็นอีกจุดท่องเที่ยวหนึ่งที่น่าสนใจและควรศึกษา

การเดินทาง จากเชียงใหม่ลงมาตามเส้นทางสาย 108 เส้นทางเดียวกับที่ไปดอยอินทนนท์ จนถึงสี่แยกใหญ่แยกแรกให้สังเกตป้ายเวียงกุมกามตัวเท่าหม้อแกง ให้เลี้ยวซ้าย ขับไปเรื่อยๆ อย่างสบายอารมณ์ พอข้ามสะพานไปแล้วให้เริ่มสังเกตทางซ้ายมือ จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเวียงกุมกาม ให้แวะที่จุดนี้แล้วติดต่อที่ศูนย์  ทุกอย่างจะเรียบร้อย

เชียงใหม่ ถนนคนเดิน
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีการจัดงานถนนคนเดินขึ้นภายในคูเมืองบริเวณถนนราชดำเนิน โดยเริ่มจากประตูท่าแพไปจนถึงสามแยกถนนสามล้าน  เป็นการจัดแผงขายสินค้าบริเวณสองฝั่งถนน สินค้าที่นำออกมาวางขายมีมากมายทั้งสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP และอีกมากมายหลายอย่าง นับว่าเป็นสีสันของการท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ก่อนนั้นจัดขึ้นนอกคูเมืองบริเวณถนนท่าแพ ทำให้รถติดและไม่มีเสน่ห์เพราะเป็นการจัดบนถนนธรรมดา แต่เมื่อย้ายการจัดมาจัดภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงบรรยากาศแบบเมืองเหนือเพราะภายในคูเมืองยังคงรักษาเอกลักษณ์ของบ้านเรือนโบราณไว้เป็นอย่างดี ถนนไม่ใช่ถนนลาดยางที่รถวิ่ง แต่เป็นถนนที่เรียงด้วยอิฐตัวหนอนเหมือนเป็นถนนเดินเล่นมิใช่ถนนรถวิ่ง ริมถนนยังมีวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองให้นักท่องเที่ยวได้ชมแบบได้บรรยากาศ ทั้งวัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ วัดพันเตา และอีกมากมายหลายวัดล้วนมีศิลปะที่สวยงาม  เรียกว่ามาถนนคนเดียวได้เห็นถึงวิถีชีวิตคนเมือง ได้เห็นแม่สาวเจียงใหม่ ได้ชมวัดไหว้พระ ได้ซื้อของติดไม้ติดมือ  ถ้าไปเชียงใหม่คราใดหากตรงช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์อย่าได้พลาดเชียว
กาดวโรรส หรือ ตลาดวโรรส
หากใครมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วไม่รู้จักตลาดวโรรส กลับไปมีหวังโดนเพื่อนแซวแน่ถือว่าตกข่าว เหมือนมาไม่ถึงเชียงใหม่  ที่นี่เป็นแหล่งขายของฝากที่ขึ้นชื่อที่สุดของเชียงใหม่  เป็นที่รวบรวมสินค้าของฝากมากหลายทุกชนิดที่มีขายในเชียงใหม่ แหนมสารพัดยี่ห้อ หมูยอสารพัดแบบ น้ำพริกหนุ่มดังๆ แคบหมูสูตรเด็ด ไส้อั่วชั้นดี  และอีกทุกๆ อย่างที่เป็นของฝากที่มีขายในเชียงใหม่ล้วนมีขายที่นี่ สนนราคาก็ไม่แพง เรียกว่าถูกว่าแหล่งอื่นที่เป็นแหล่งขายของฝากนักท่องเที่ยวอย่างตลาดหลังไนซ์ หรือตามห้างต่างๆ 

การเดินทางมากาดวโรรสก็สะดวกสบาย หากเดินทางมากันเองเป็นรถตู้ก็บอกคนขับว่าไปตลาดวโรรส เดี๋ยวคนขับก็พาไปส่งเอง แต่คนขับไม่ค่อยจะพาไปอ้างว่าไม่มีที่จอดรถ อ้างรถติดอ้างโน่นอ้างนี่ อันนี้ก็ต้องคุยกันเอง   ถ้าเดินทางมากันเองโดยรถโดยสารก็เรียกรถสองแถวแดงบอกว่าไปกาดวโรรส 10 บาทเท่านั้นเอง  ( ตอนน้ำมันลิตรละ 14.59บาท )  จากกาดวโรรสมีรถสองแถวมากมายสามารถเรียกให้ไปส่งได้ทุกที่ทั้งสถานีรถไฟ สถานีขนส่งอาเขต ส่วนสนามบินอยู่ไกลต้องเหมาเป็นกรณีๆ ไป

ตลาดดอกไม้สด กาดต้นลำไย
เวลาผมพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวเชียงใหม่ผมมักจะพานักท่องเที่ยวไปซื้อของที่ตลาดวโรรสซึ่งเป็นของฝากจำพวกแห้งๆ  ขากลับก็ต้องเดินผ่านกาดต้นลำไย กาดนี้เป็นแหล่งขายของทั่วไปโดยเฉพาะผลไม้หลากหลายทั้งสตอบอรี่ ลิ้นจี่ ส้ม และอาหารพื้นเมืองแปลกๆ เช่น ลูกก่อคั่ว หมกปลา และอีกหลายอย่าง  พอเดินออกมาจากกาดต้นลำไยก็จะเจอตลาดดอกไม้สด มีวางขายยาวตลอดแนวถนน  นับว่าเป็นเส้นทางที่สวยงามมีแต่ดอกไม้สวยๆ ตลอดทางเดิน มีสินค้าหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าซื้อกลับบ้าน เช่นดอกฟิลโล ที่มีแต่ก้านยาวๆ ที่ปลายมีดอกสีขาว เมื่อซื้อกลับมาบ้านแล้วใส่แจกันให้ดอกบานก็สวยดีอยู่ได้ถึง 1 ปีโดยดอกไม้ร่วง นอกจากนั้นยังมีดอกไม้สวยๆ ที่เหมาะกับการเดินชม จุดนี้เป็นแหล่งรวมของดอกไม้สดของเชียงใหม่ บรรดาผู้ที่ต้องการใช้เช่นโรงแรมต่างๆ ก็จะมาหาซื้อกันที่นี่  เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าเดินเที่ยว ราคาดอกไม้ก็ไม่แพงเห็นแล้วอยากซื้อแต่ก็ไม่รู้ซื้อแล้วจะเอากลับไปยังไง เดินชมดีกว่า
 

ท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ เฉพาะในกลุ่มของท่านเอง  8 -16 ท่าน  กำหนดวันเดินทางตามความสะดวกของท่าน

Copyright © 2005 Tourdoi.com All Rights Reserved.